ภัยเงียบจากนกพิราบ
นกพิราบนอกจากจะเป็นนกแห่งสันติภาพแล้ว ยังเป็นที่ชื่นชอบ ให้ความเพลิดเพลินแก่เด็กๆ และคนทั่วไป ในการเฝ้ามองเวลาโปรยอาหารให้แล้วนกบินมาแย่งกันจิกกิน ถือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง แต่รู้หรือไม่ว่าการกระทำเหล่านั้นอาจนำอันตรายมาสู่คนได้ เป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่ที่นึกไม่ถึง หากอยู่ใกล้ชิดนกพิราบอาจได้รับเชื้อโรคคลามัยดิโอซีสหรือโรคไข้นกแก้วซึ่งเกิดจากเชื้อ Chalamydia psittaci หรือปัจจุบันเรียกเป็น Chlamydophila psittaci เป็นโรคที่ติดต่อได้ระหว่างนกด้วยกัน และทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด รวมถึงแมวและคนด้วย อีกโรคหนึ่งที่พบได้และทำให้คนเสียชีวิตมาแล้วหลายราย คือ โรคสมองอักเสบจากเชื้อรา คริปโตคอคคัส (Cryptococcal meningitis) หรือ Cryptococcosis ซึ่งเกิดจากเชื้อ คริปโตคอคคัส นีโฟอร์มาน (Cryptococcal neoformans) เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งเจริญเติบโตได้ง่ายและพบในอุจจาระของนกพิราบ
โรคนี้ติดต่อได้ในสัตว์เช่น แมว สุนัข ปศุสัตว์ รวมถึงคน แต่การติดต่อระหว่างคนสู่คนเกิดขึ้นได้ยากมากอาจมีอาการป่วยอย่างเฉียบพลันหรือ อาจเป็นแบบเรื้อรัง เกิดรอยโรคที่ผิวหนังเป็นตุ่ม หนอง ผื่น แพ้ คัน อาจแสดงอาการสมองอักเสบ อาการอื่นๆ เช่น ตาอักเสบ โพรง จมูกอักเสบ ข้ออักเสบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) ในนกพิราบที่ตกลงมาตาย โรคอื่นๆ ที่พบแต่น้อยมาก และพบในต่างประเทศเช่นปอดอักเสบ Q fever ท้องเสีย อาการแพ้หรือเครียด เนื่องจากหมัดจากนกพิราบ
คนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวต่ำส่วนมากจะเกิดกับบุคคลที่มีอาชีพ ซึ่งเกี่ยว ข้องและใกล้ชิดกับนกพิราบ มีโอกาสสัมผัสโดย ตรงกับแหล่งอาศัยและ มูลอุจจาระได้ง่าย ผู้ที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกันโรค ในเด็กและคนชราอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคมากกว่า คนปกติถึง 1,000 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคจากเชื้อราที่พบในมูลขับถ่ายของนกพิราบ หากต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดนกพิราบควรมีผ้าปิดจมูก และอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังสัมผัสสัตว์ ทำความสะอาดเก็บกวาดมูลนกอย่าให้หมักหมมเพราะจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา gefälschte uhren
ขอบคุณข้อมูลจาก : สัตวแพทย์หญิงปราณี พาณิชย์พงษ์ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
เว็บไซต์ : โดย สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์